สักการะปฏิมาเสริมสิริมงคล ยลวิเศษศิลป์อารามริมคลองสายประวัติศาสตร์ฝั่งธนบุรี (วัดประดู่ฉิมพลี-ศาลเจ้าพ่อไฟ -วัดปากน้ำภาษีเจริญ-วัดอัปสรสวรรค์-วัดนางชี-วัดนาคปรก)
26 มกราคม 2566-เชิญชวนทุกท่านร่วมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสริมสิริมงคลรับปีใหม่ 2566 พร้อมฟังเกร็ดความรู้น่าสนใจในการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ณ พระอารามบนเส้นทางคลองสายประวัติศาสตร์ในย่านฝั่งธนบุรี(คลองบางกอกใหญ่-คลองภาษีเจริญ-คลองด่าน) กับกิจกรรม....
สักการะปฏิมาเสริมสิริมงคล ยลวิเศษศิลป์อารามริมคลองสายประวัติศาสตร์ฝั่งธนบุรี
(วัดประดู่ฉิมพลี-ศาลเจ้าพ่อไฟ -วัดปากน้ำภาษีเจริญ-วัดอัปสรสวรรค์-วัดนางชี-วัดนาคปรก)
กำหนดการ
09.00 น. พบกัน ณ จุดนัดหมาย ลานข้างพระอุโบสถวัดประดู่ฉิมพลี ซอยเพชรเกษม 15 ถนนเพชรเกษม Map (สามารถเดินทางมาด้วยรถสาธารณะ หรือรถไฟฟ้าใต้ดินMRT สถานีท่าพระ ชานชาลา 1 ลงบันได เลี้ยวซ้าย ออกทางออก 3 ลงบันไดเลื่อนถึงชั้นถนนเพชรเกษมข้ามถนนตรงทางม้าลาย เลี้ยวขวา เข้าซอยวัดประดู่ฉิมพลี (ซอยเพชรเกษม 15) ตรงเข้ามาสุดซอยแล้วเลี้ยวขวาจะถึงวัด
09.15 น. ชมวัดประดู่ฉิมพลี ในสร้างขึ้นในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) เมื่อครั้งเป็นพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา จางวางพระคลังสินค้า ได้จัดหาที่ดินและก่อสร้างวัดขึ้นใช้เวลานานถึง 8 ปี จึงแล้วเสร็จบริบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4
สักการะ”พระพุทธสัมพันธมุนี” พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยปางมารวิชัยและในอดีตวัดนี้เคยเป็นสถานที่ประดิษฐาน“พระศาสดา” มาก่อน ต่อมารัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระศาสดา จากวัดประดู่ฉิมพลี มาไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ จึงได้ไปเลือกหาพระพุทธรูปที่มีพุทธศิลป์งดงาม และมีขนาดเท่ากับ “พระศาสดา” จากวัดบางอ้อยช้าง นนทบุรีมาประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถวัดประดู่ฉิมพลีจวบจนปัจจุบัน สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณวัด อาทิพระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปโบราณปางประทับยืนห้ามสมุทร รอยพระพุทธบาทจำลอง รูปเหมือนพระราชสังวราภิมณฑ์ (หลวงปู่โต๊ะ) อดีตเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง โดยเมื่อครั้งที่หลวงปู่โต๊ะยังมีชีวิตอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ได้ทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในจริยาวัตรของท่านอย่างยิ่ง
10.30 น. เดินข้ามคลองบางกอกใหญ่ เส้นทางสายประวัติศาสตร์แห่งย่านฝั่งธนบุรี สักการะศาลเจ้าพ่อไฟ ศาลเจ้าเก่าแก่ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากคลองภาษีเจริญตรงข้ามกับวัดปากน้ำนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนักจนเป็นที่เลื่องลือ จากนั้นลัดเลาะผ่านห้องแถวไม้เก่าแก่ ซึ่งในอดีตเป็นย่านที่ผู้คนพลุกพล่านเพราะเป็นจุดจอดพักเรือโดยสารและเรือสินค้าที่รอเวลาประตูน้ำปากคลองภาษีเจริญเปิด-ปิดเพื่อสัญจรต่อไป ฟังเรื่องราวความเป็นมาของคลองภาษีเจริญ หนึ่งในคลองขุดในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ช่วยพัฒนาเส้นทางสัญจรและเส้นทางพาณิชย์ให้พื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกให้สะดวกขึ้น
11.00 น. ข้ามคลองภาษีเจริญสู่วัดปากน้ำ พระอารามโบราณที่มีมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์อีกหลายครั้ง โดยสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เกือบทั้งพระอารามโดยให้อนุรักษ์ศิลปะเดิมไว้ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์นำพระกฐินหลวงมาถวายตลอดรัชกาล สมัยรัชกาลที่ 6 วัดปากน้ำทรุดโทรมลงเนื่องจากไม่มีเจ้าวาส เจ้าคณะปกครองได้ส่งพระสมุห์สด จนฺทสโร หรือ หลวงพ่อสด(ต่อมาได้รับการถวายนามเป็น “พระมงคลเทพมุนี”และแต่พุทธศาสนิกชนทั่วไปมักขานนามท่านว่า “หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ”) มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. 2459 หลวงพ่อสด ได้เริ่มให้มีการสอนวิปัสสนากัมมัฏฐาน ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ตั้งสำนักเรียนทั้งนักธรรม และบาลี สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น ทำให้พระภิกษุ-สามเณร และสาธุชนเข้ามาศึกษา และปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก วัดจึงเจริญขึ้นมาโดยลำดับ ตื่นตากับสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของย่านนี้ที่ทำให้พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาสักการะและเยี่ยมชมวัดปากน้ำอย่างต่อเนื่องคือ ”พระพุทธธรรมกายเทพมงคล” พระพุทธรูปปางสมาธิ สูง 69 เมตร(สูงเทียบเท่าตึก 20 ชั้น) สร้างขึ้นตามนิมิตของหลวงพ่อสด ซึ่งท่านเห็นลักษณะของพระพุทธรูปนี้ในขณะที่กำลังเจริญสมาธิกรรมฐาน พระพุทธรูปทำด้วยทองแดงขนาดใหญ่ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ นำไปบรรจุไว้ภายในพระเกตุและยล”พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล” สร้างด้วยสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างรัตนโกสินทร์ และล้านนา มีความสูง 80 เมตร ภายในมีเจดีย์แก้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมและสักการะได้
11.45 น. รับประทานอาหารกลางวันหลากรสตามอัธยาศัย ณ ตลาดเจริญศรี บริเวณหน้าทางเข้าวัดปากน้ำ
13.00 น. รวมพลกันบริเวณลานกลางตลาดเจริญศรี ชมร่องรอยความเจริญของย่านนี้ก่อนเดินลัดเลาะตามเส้นทางในชุมชนสู่วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร
13.30 น. ยลวัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร อารามโบราณริมคลองด่าน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าจอมน้อย (สุหรานากง) ธิดาของเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) พระสนมเอกของพระองค์ผู้มีความสามารถในการเล่นเป็นตัวละคร “สุหรานากง”ในเรื่อง อิเหนา ได้มาปฏิสังขรณ์วัดนี้ใหม่ทั้งวัด และได้ถวายรัชกาลที่ 3 เป็นพระอารามหลวง ชมพระอุโบสถศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 ซึ่งไม่มีช่อฟ้า ใบระกาแบบวัดทั่วไป ซึ่งเรียกกันว่า”ศิลปะแบบพระราชนิยม”หน้าบันทำเป็นลวดลายปูนปั้นประดับกระเบื้องอย่างจีนอันงดงาม เป็นรูปโขดหิน ดอกไม้ สัตว์ และสัญลักษณ์มงคลกระบวนจีนต่างๆ สักการะพระประธาน 28 องค์ ซึ่งหมายถึงอดีตพระพระพุทธเจ้าตั้งแต่พระองค์แรกจนถึงพระพุทธเจ้าโคดม ตั้งลดหลั่นกันอย่างงดงามแปลกตาเป็นมงคลชีวิตพร้อมชมความสง่างามของหอไตรไม้ศิลปะแบบไทยประเพณี ตั้งอยู่กลางสระน้ำยกพื้นสูง ที่ได้รับการบูรณะแต่ยังรักษารูปแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีคันทวยรับชายคา ผนังประดับด้วยกระจกสี ซึ่งหาชมได้ยาก
*รับเครื่องดื่มเย็นๆดับกระหายคลายเหนื่อยก่อนเดินข้ามคลองด่าน ผ่านวัดขุนจันทร์ออกสู่ถนนเทอดไท นั่งรถสาธารณะมุ่งสู่วัดนางชีโชติการาม
15.00 น. ชมวัดนางชีโชติการาม วัดโบราณริมคลองด่าน สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยเจ้าพระยาพิชิตชัยมนตรี ร่วมกับขุนนางอีก 2 ท่านเพื่อแก้บนให้ลูกสาวซึ่งบวชชีแล้วจะหายป่วยและได้ร้างไปในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาต่อมาวัดได้ร้างไปในปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศ ส่วนสาเหตุที่ชื่อ “วัดนางชี” นั้น มีเรื่องเล่าว่า ปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในมีความขัดแย้งกัน สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี พระชนนีในสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินีในรัชกาลที่ 1 จึงทรงไปผนวชเป็นชี และทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ เป็นที่มาของชื่อวัดนางชีนับแต่นั้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน)ได้มาบูรณปฏิสังขรณ์วัดนางชี เมื่อแล้วเสร็จได้ถวายเป็นพระอารามหลวง รัชกาลที่ 1 ได้พระราชทานนามวัดนี้ว่า “วัดนางชีโชติการาม” ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 พระยาราชานุชิต (จ๋อง) ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอีกครั้ง โดยสร้างเป็นศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 ชมความงดงามแปลกตาของภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถและบานประตูจำหลักไม้ที่งดงามแปลกตาอย่างยิ่ง พร้อมสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ ซึ่งทางวัดจะจัดให้มีงานสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ ในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 เป็นประจำทุกปี (ระหว่างวันที่ 12–14 พฤศจิกายน) เรียกว่า “งานชักพระวัดนางชี” หรือ “งานแห่พระบรมสารีริกธาตุ” เป็นงานบุญประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านาน และเป็นแห่งเดียวที่จัดขึ้นในเขตกรุงเทพฯ-ธนบุรี
![]() |
ภายในพระวิหารวัดนางชี |
17.00 น. จบกิจกรรม แยกย้ายกันเดินทางกลับเคหสถานด้วยความรู้และความประทับใจเต็มเปี่ยม
***กำหนดการนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม
นำชมโดย
-จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา(นัท)
วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม
วิทยากรรับเชิญ
-ฐิติชัย อัฏฏะวัชระ(ป๊อบ)
อาจารย์พิเศษด้านสื่อสารมวลชนและสารคดี ผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
อัตราค่าร่วมกิจกรรม
ท่านละ 1,350 บาท (หนึ่งพันสามร้อยห้าสิบบาทถ้วน)/ท่าน
อัตรานี้รวม
1.ค่าเครื่องดื่ม(บ่าย)
2.ค่าวิทยากร
3.ค่ารถสาธารณะ(วัดปากน้ำภาษีเจริญ-วัดนางชีโชติการาม)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
-คุณจุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา (นัท)
โทร.0-81343-4261หรือ Line ID : นัท_nut (แอดไลน์ด้วยหมายเลข 0813434261 ก็ได้)
และคุณสิรินารถ พนมวัน ณ อยุธยา (เอิง) โทร.0-84071-8482
Line ID : siri_erng
การสำรองเข้าร่วมกิจกรรม
1.โอนเงินจำนวน 1,350 บาท/ท่าน เข้าบัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงเทพ สาขาสุขุมวิท 71 ในนามนายจุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา เลขที่บัญชี 931-7-02962-8
2.เมื่อโอนเงินแล้วกรุณาแอดไลน์ด้วย0813434261และส่งข้อมูลต่อไปนี้(ทั้งของท่านและเพื่อนในกลุ่มของท่าน)ให้ผู้จัดกิจกรรม
3.หากท่านได้โอนเงินมาแล้ว แต่ไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมตามที่แจ้งไว้ได้ อาจมอบให้ผู้อื่นมาแทนได้โดยแจ้งให้ผู้จัดทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 5 วัน ก่อนวันจัดกิจกรรม หากไม่แจ้งตามกำหนดดังกล่าวถือว่าสละสิทธิ์ผู้จัดขอสงวนสิทธิ์การคืนเงิน
4.รับเฉพาะผู้สนใจชาวไทย
ระเบียบในการเข้าชมสถานที่
1.กรุณาแต่งกายสุภาพเพื่อเป็นการเคารพสถานที่ซึ่งไปเข้าเยี่ยมชม(สถานที่ราชการ)
-สุภาพบุรุษ(แต่งกายสุภาพ งดกางเกงขาสั้นและเสื้อไม่มีแขน)
-สุภาพสตรี(กรุณาสวมกางเกงสุภาพ/กระโปรงคลุมเข่า/ผ้าซิ่น งดเสื้อไม่มีแขน กางเกงขาสั้นหรือกระโปรงสั้น)
- รองเท้าหุ้มส้นสวมสบาย
- กรุณาเตรียมหมวก ร่ม แว่นตากันแดด น้ำดื่มและรองเท้าหุ้มส้นสวมสบายเพื่อความรื่นรมย์ในการเที่ยว
2.กรุณาปฏิบัติตามระเบียบของสถานที่ทุกแห่งที่เข้าไปเยี่ยมชม เช่น ไม่ล่วงล้ำและถ่ายภาพบางพื้นที่ถ้าไม่ได้รับอนุญาต
***โอนเงินแล้วช่วยส่งข้อมูลต่อไปนี้ให้ด้วยครับ
1.หลักฐานการโอนเงิน
2.ชื่อ-นามสกุล ชื่อเล่น
3.หมายเลขโทรศัพท์มือถือ
4.ชื่อในFacebook และไลน์ ไอดี
5.หลักฐานการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น