ส่องวิถี 4 ย่านเก่า (บ้านหม้อ-พาหุรัด-จักรวรรดิ-สะพานหัน) “สืบประวัติเรื่องเล่าเคล้าตำนาน ศาสนสถาน ห้างร้านคู่พระนคร”

ชวนเดินลัดเลาะท่องเที่ยว 1 Day Trip ย่านเก่าแห่งพระนคร (บ้านหม้อ-พาหุรัด-จักรวรรดิ-สะพานหัน) มีสถานที่เปี่ยมเสน่ห์ที่สะท้อนประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม ตลอดจนวิถีชีวิตผู้คนผสมผสานหลากวัฒนธรรม ไทย จีน อินเดีย นับแต่อดีตจวบจนปัจจุบันทั้งศาสนสถาน อาคารเก่า ร้านค้า  ชุมชนที่พักอาศัย กับกิจกรรม...

ส่องวิถี 4 ย่านเก่า (บ้านหม้อ-พาหุรัด-จักรวรรดิ-สะพานหัน)  “สืบประวัติเรื่องเล่าเคล้าตำนาน ศาสนสถาน ห้างร้านคู่พระนคร”

วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566

08.45 น. พบกัน ณ จุดนัดหมาย โรงแรม Cacha Bed Heritage ดู Map (ใกล้รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีสามยอด ออกที่ทางออก 1 ข้ามทางม้าลายถนนเจริญกรุง โรงแรมตั้งอยู่บริเวณสี่แยกหัวมุมถนนเจริญกรุงตัดกับถนนมหาไชย) ลงทะเบียนผู้ร่วมกิจกรรม จิบเครื่องดื่มและรับประทานขนมรองท้องเติมพลัง ณ Kaja Gallery Cafe มุมกาแฟของโรงแรมตามอัธยาศัย

09.00 น. เริ่มกิจกรรม ล้อมวงกันฟังเรื่องราวอันน่าสนใจของโรงแรม Cacha Bed Heritage ซึ่งดำเนินกิจการในอาคารเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 ศิลปะแบบวิคตอเรียนซึ่งในอดีตอาคารนี้อยู่ในพื้นที่วังของราชสกุลคัคณางค์ซึ่งปรากฏดวงตราประจำตระกูลอยู่บนกระจังหน้าตึก

เดินเท้าเลียบถนนเจริญกรุงพร้อมชมสถานที่สำคัญและร้านค้าเก่าแก่ที่ตั้งเรียงรายอยู่สองฟากฝั่งถนน อาทิ ย่านสามยอด ร้านกาแฟออน ล็อก หยุ่น โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ร้านเซ่งชง ฯลฯ ก่อนข้ามถนนตรีเพชร แวะเยี่ยมเยือนห้างร้านที่มีเรื่องราวครั้งอดีตที่น่าสนใจมากมาย อาทิ ร้านถ่ายรูปสไตล์วินเทจเลื่องชื่อฉายาจิตรกร

ห้างไนติงเกล-โอลิมปิค ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่คู่ย่านวังบูรพาภิรมย์-พาหุรัด เจ้าของ คลังแห่งเครื่องกีฬา ราชาเครื่องดนตรี ราชินีเครื่องสำอางฯลฯ

10.30 น. สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นมงคลชีวิตและแก้ปีชงแก้ชง เสริมโชค เสริมบารมี ณ วัดทิพย์วารีวิหาร (กัมโล่วยี่) อารามจีน เก่าแก่ที่สร้างมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี เมื่อในปี พ.ศ. 2319 เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย และเป็นวัดในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน สังกัดคณะสงฆ์จีนนิกาย

วัดทิพย์วารีวิหาร (กัมโล่วยี่)
เดินเท้าท่องย่าน "บ้านหม้อ"  แหล่งจำหน่ายเครื่องเสียง วิทยุสื่อสารและเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี  ชมความงดงามทางสถาปัตยกรรมยุโรป ตึกแถว 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูนหลังคามุงกระเบื้องว่าวทรงปั้นหยาที่เป็นทั้งอาคารพักอาศัย และอาคารพาณิชย์  สัมผัสถึงความรุ่งเรืองครั้งอดีต "ตลาดบ้านหม้อ" แม้ปัจจุบันจะโรยราแต่ยังแฝงร่องรอยความงามไม่เสื่อมคลาย

11.30 น. ชมสีสันบรรยากาศของร้านขายผ้า ที่นอน ฯลฯ ของชาวไทยเชื้อสายอินเดียบนเส้นทางสายการค้าย่านพาหุรัดซึ่งคึกคักตลอดวัน ข้ามถนนจักรเพชร แวะชมร้านขายยาสมุนไพรไทย-จีน กวนอันตึ๊งที่ตั้งอยู่ในอาคารพาณิชย์เก่าแก่ ยังคงรักษาบรรยากาศ รูปแบบศิลปะและสีสัน ของอาคารเก่าครั้งอดีตไว้ได้อย่างน่าชม เดินผ่านตรอกสะพานหัน

12.00 น. รับประทานอาหารกลางวันหลากรสตามอัธยาศัยย่านสะพานหันริมคลองโอ่งอ่าง

13.15 น. นัดรวมกันบริเวณสะพานหัน เดินเลียบคลองโอ่งอ่าง ชมสถาปัตยกรรมอาคารเก่าหลากสมัยที่ตั้งเรียงรายอยู่สองฟากฝั่งคลอง ชมสัญลักษณ์อันเปี่ยมความหมายของตราอาร์มแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 ณ พลับพลารับเสด็จ วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร(วัดเชิงเลน) วัดโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์(ทองอิน) พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 1 หลังเสร็จสงคราม 9 ทัพ ทรงได้รับความดีความชอบสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข(วังหลัง)ได้ทรงรับอุปถัมภ์บูรณปฏิสังขรณ์พระอารามนี้ที่ทรุดโทรมขึ้นใหม่แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง รัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระราชทานนามวัดนี้ว่า "วัดบพิตรพิมุข" เพื่อเป็นอนุสรณ์

สักการะพระประธานในพระอุโบสถและนมัสการอินทสโร ภิกขุ หรือ หลวงปู่ไข่ อินทสโร วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร พระเถระผู้มีชื่อเสียงทางวิปัสสนากรรมฐานเป็นที่นับถือของพุทธศาสนิกชน เชื่อถือกันว่า ท่านมีฌาณพิเศษสามารถล่วงรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ล่วงหน้าและมีชื่อเสียงทางเทศนามหาชาติ รวมถึงมีความสามารถทางแพทย์แผนโบราณอีกด้วย อีกทั้งท่านมีเมตตาช่วยอนุเคราะห์รักษาอาการป่วยไข้ให้กับประชาชนโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นเชื้อชาติใด จึงได้รับความนับถืออย่างยิ่งจากชาวบ้านในย่านนั้นรวมถึงพุทธศาสนิกชนทั่วไป

นอกจากนี้วัตถุมงคลของท่านก็มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมากในวงการพระเครื่อง อีกหนึ่งในตำนาน เบญจภาคี พระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ไข่  พระอรหันต์กลีบบัว ที่เหล่าเซียนพระต่างหามาครอบครอง บางรุ่นมีมูลค่าถึง 30 ล้านบาท จัดเป็นอีกหนึ่งเกจิพระเครื่องที่แพงในระดับท็อปของเมืองไทย

14.45 น. เยี่ยมชมร้านขายยาและผลิตยารักษาโรคด้วยสมุนไพรไทยและศาสตร์แห่งการรักษาแผนโบราณจนมีชื่อเสียงเลื่องลือมา 130 ปี เป็นที่รู้จักของสาธารณชนไทยอย่างแพร่หลาย  ณ ร้านเจ้ากรมเป๋อ เลือกซื้อยาสมุนไพรหลากหลายตำรับท่ามกลางกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจของสมุนไพรไทยนานาชนิด ครอบคลุมทั้งสมุนไพรที่มาจากพืช สัตว์ และแร่ธาตุ อ่านประวัติเพิ่มเติมร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อ ที่นี่

ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับคุณถวัลย์ สุวรรณเตมีย์ ร้านเจ้ากรมเป๋อ
15.15 น. จิบเครื่องดื่มเย็นๆดับกระหายคลายเหนื่อย ฟื้นคืนความสดชื่น ณ ร้าน Sobek Cafe’ ในบริเวณวัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร

15.40 น. ทัศนาวัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร เดิมเป็นวัดราษฎร์ ชื่อวัดนางปลื้ม สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเรียกวัดสามปลื้ม เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม ประมาณ พ.ศ. 2362 และถวายรัชกาลที่ 3 ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า วัดจักรวรรดิราชาวาสเมื่อประมาณ พ.ศ. 2368 ภายในวัดมีศาล และรูปปั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาอยู่ด้วย โดยช่างปั้นได้ปั้นจากภาพเขียนรูปปั้นของเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี (นักองค์ด้วง) พระเจ้ากรุงกัมพูชาให้สร้างขึ้นที่เมืองอุดงมีชัย

ในปีพ.ศ.2370 เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้อัญเชิญพระบาง มาจากนครเวียงจันทน์  รัชกาลที่ โปรดเกล้าฯให้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดจักรวรรดิราชาวาส  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสร้างพระวิหารขึ้นทางด้านทิศตะวันตกของพระอุโบสถ  เพื่อประดิษฐานพระบาง  เมื่อรัชกาลที่ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดผ้าพระกฐิน ทอดพระเนตรเห็นวิหารพระบางสูงกว่าพระอุโบสถ ทรงมีรับสั่งทักท้วง เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ทางด้านเหนือของพระอุโบสถเดิม พระอุโบสถเดิมจึงกลายเป็นพระวิหารมาจนปัจจุบัน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบางกลับคืนไปยังนครหลวงพระบาง แล้วโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญ พระนาก มาประดิษฐานไว้ในพระวิหารแทนพระบาง และยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน ชมสิ่งสำคัญในบริเวณวัด อาทิ พระอุโบสถ พระปรางค์ มณฑปพระพุทธบาท ฯลฯ นอกจากนี้ยังมี บ่อเลี้ยงจระเข้ ที่อยู่กลางวัด ซึ่งพระสงฆ์และเด็กวัดช่วยกันดูแล ก่อนฟังตำนานเล่าขานเรื่องราวของจระเข้กินคน เมืองพระนคร ชื่อ "ไอ้บอดวัดสามปลื้ม" เนื่องจากมีตาข้างหนึ่งบอด แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าไอ้บอดวัดสามปลื้มนั้นตายลงเมื่อใด แต่ทุกวันนี้ เรื่องราว ถูกส่งต่อถึงหูคนยุคใหม่ถึงความสุดสยอง ดุร้าย

16.30 น. จบกิจกรรม แยกย้ายกันเดินทางกลับเคหสถานด้วยความรู้และความประทับใจเต็มเปี่ยม

***กำหนดการนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

นำชมโดย

-จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา(นัท)

วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม

วิทยากรรับเชิญ

-ฐิติชัย อัฏฏะวัชระ(ป๊อบ)

อาจารย์พิเศษด้านสื่อสารมวลชนและสารคดี ผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

อัตราค่าร่วมกิจกรรม

ท่านละ 1,350 บาท (หนึ่งพันสามร้อยห้าสิบบาทถ้วน)/ท่าน

อัตรานี้รวม

1.ค่าเครื่องดื่ม (บ่าย)

2.ค่าวิทยากร

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

-คุณจุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา(นัท)

โทร.0-81343-4261หรือ Line ID : นัท_nut (แอดไลน์ด้วยหมายเลข 0813434261 ก็ได้)

และคุณสิรินารถ พนมวัน ณ อยุธยา (เอิง)

โทร.0-84071-8482  Line ID : siri_erng

การสำรองเข้าร่วมกิจกรรม

1.โอนเงินจำนวน 1,350 บาท/ท่าน เข้าบัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงเทพ สาขาสุขุมวิท 71 ในนามนายจุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา เลขที่บัญชี  931-7-02962-8

2.เมื่อโอนเงินแล้วกรุณาแอดไลน์ด้วย0813434261และส่งข้อมูลต่อไปนี้(ทั้งของท่านและเพื่อนในกลุ่มของท่าน)ให้ผู้จัดกิจกรรม

3.หากท่านได้โอนเงินมาแล้ว แต่ไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมตามที่แจ้งไว้ได้ อาจมอบให้ผู้อื่นมาแทนได้โดยแจ้งให้ผู้จัดทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 5 วัน ก่อนวันจัดกิจกรรม หากไม่แจ้งตามกำหนดดังกล่าวถือว่าสละสิทธิ์ผู้จัดขอสงวนสิทธิ์การคืนเงิน

4.รับเฉพาะผู้สนใจชาวไทย

ระเบียบในการเข้าชมสถานที่

1.กรุณาแต่งกายสุภาพเพื่อเป็นการเคารพสถานที่ซึ่งไปเข้าเยี่ยมชม(สถานที่ราชการ)

        -สุภาพบุรุษ(แต่งกายสุภาพ งดกางเกงขาสั้นและเสื้อไม่มีแขน)

        -สุภาพสตรี(กรุณาสวมกางเกงสุภาพ/กระโปรงคลุมเข่า/ผ้าซิ่น งดเสื้อไม่มีแขน กางเกงขาสั้นหรือกระโปรงสั้น)

        - รองเท้าหุ้มส้นสวมสบาย

        - กรุณาเตรียมหมวก ร่ม แว่นตากันแดด น้ำดื่มและรองเท้าหุ้มส้นสวมสบายเพื่อความรื่นรมย์ในการเที่ยว

2.กรุณาปฏิบัติตามระเบียบของสถานที่ทุกแห่งที่เข้าไปเยี่ยมชม เช่น ไม่ล่วงล้ำและถ่ายภาพบางพื้นที่ถ้าไม่ได้รับอนุญาต

***โอนเงินแล้วช่วยส่งข้อมูลต่อไปนี้ให้ด้วยครับ (ทางไลน์)

1.หลักฐานการโอนเงิน

2.ชื่อ-นามสกุล ชื่อเล่น

3.หมายเลขโทรศัพท์มือถือ

4.ชื่อในFacebook และไลน์ ไอดี

5.หลักฐานการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม

ติดต่อ จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา (นัท) วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม
โทร.0-81343-4261 Line ID : นัท_nut (แอดไลน์ด้วยหมายเลข 0813434261ก็ได้) 
Fb : นัท จุลภัสสร พนมวัน



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

“เยือนยลศิลปะวิเศษ เยี่ยมเขตอารามและแหล่งเรียนรู้ คู่ย่านสวนเก่าบางพลัด-บางยี่ขัน”

“เยี่ยมยลแหล่งเรียนรู้สองฟากฝั่งเมืองปากน้ำ(สมุทรปราการ-พระประแดง) ทัศนาศิลป์ศาสนสถานคู่นคร สัญจรตลาดชุมชน” ณ จังหวัดสมุทรปราการ

“นมัสการมหาธาตุคู่แผ่นดิน เจาะลึกศิลป์แผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ” (วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร -วัดราชนัดดารามวรวิหาร-วัดเทพธิดารามวรวิหาร)

ล่องนาวา ทัศนาวิเศษศิลป์อาราม ยินตำนานย่าน“บางกอกน้อย” ฟื้นรอยอดีตคลองงามนาม “มหาสวัสดิ์”

เลียบแลศิลป์เรือนโบราณ ศาสนสถาน อาคารประวัติศาสตร์ (ย่านราชเทวี-รองเมือง)